บ่อยครั้งที่เจ้าของร้านอาหาร ร้านเหล้าหรือสถานบันเทิง มักจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับปัญหาเรื่องระบบเสียงที่ออกแบบมาไม่ถูกต้องเหมาะสมกับธุรกิจที่ตัวเองกำลังประกอบกิจการอยู่ เช่น บางทีมักจะได้อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ไม่จำเป็นในการใช้งาน ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ , บางกรณีก็อาจจะได้ของที่ด้อยคุณภาพไม่เหมาะสมกับเงินที่จ่ายไป , หรือมีปัญหาในการติดตั้ง เช่น ตำแหน่งในการติดตั้งไม่เหมาะสม ดูไม่สวยงาม แถมการปรับแต่งเสียงก็ไม่ไพเราะเป็นที่ถูกใจลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ในบทความนี้เราจะมากล่าวกันถึงแนวคิดใน “การเลือกซื้อระบบเครื่องเสียง ร้านอาหาร ร้านเหล้า หรือสถานบันเทิง” กันครับ
**เราควรจะต้องคำนึงถึงเรื่องหลักๆอะไรบ้าง**
- เรื่องของสภาพอคูสติกของห้อง
- ความดังที่เหมาะสมกับธุระกิจ
- การออกแบบ
- การเลือกลำโพง
- การควบคุมย่านเสียงต่ำ
- อุปกรณ์ที่ใช้งาน
- การปรับแต่งระบบเสียง
- ผู้ควบคุมระบบเสียง
1. เรื่องของสภาพอคูสติกของห้อง
ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านเหล้า สถานบันเทิงต่างๆรวมไปถึงห้องประชุมก็ดี มักจะออกแบบสภาพการสะท้อนของเสียงภายในห้องมาไม่ถูกต้อง เช่นร้านอาหารนั้นมักจะออกแบบมาให้มีกระจกรายรอบ หรือสถานบันเทิงก็ดีส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปิด หากเป็นพื้นที่เปิดไม่มีผนังหรือหลังคาอย่างร้านอาหารกินเหล้านิ่งชิลล์ๆ รับลมก็จะไม่ประสบกับปัญหาพวกนี้เท่าไหร่ หากภายในร้านที่เป็นแบบปิดนั้นมีเสียงสะท้อนจนทำให้เกิดความก้องของเสียงทำให้เสียงที่ออกจากลำโพงนั้นไม่ชัดเจน
ขอแนะนำให้หานักออกแบบด้านอคูสติกเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้จะดีที่สุด เพราะว่า หากสภาพภายในร้านนั้นมีค่าความก้องหรือ RT60 มากเสียงจะฟังไม่รู้เรื่อง ต่อให้ใช้ลำโพงดีขนาดไหนก็ช่วยได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยิ่งในเทคผับปัจจุบันด้วยแล้วห้องมักจะเป็นเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมที่เป็นผนังปูนซะส่วนใหญ่ แน่นอนว่าเสียงสะท้อนเกิดขึ้นแน่นอน ควรจะให้มันมีส่วนที่ดูดซับเสียงบ้างแต่ก็ต้องไม่มากจนเกินไปเพราะห้องนั้นก็จะขาดความเป็นธรรมชาติ
2. ความดังที่เหมาะสม
ส่วนใหญ่แล้วร้านอาหารนั้นต้องการเปิดเพลงเบาๆสบายๆนั่งคุยกัน แต่โดยมากที่เจอคือมักจะเปิดเสียงดังเกินความพอดี เราจึงต้องจำเป็นต้องกำหนดความดังให้เหมาะสมครอบคลุมพื้นที่ อย่างเช่น ร้านอาหาร ความดังที่เหมาะสมคือไม่ควรเกิน 83dB เพราะหูคนเราจะฟังแล้วรู้สึกสบายฟังได้นานไม่ปวดหู ได้ยินรายละเอีดของเสียงที่ครบถ้วนสมบูรณ์สามารถนั่งพูดคุยกันโดยที่ไม่ต้องตะโกนใส่ให้เสียงแหบแห้ง ร้านเหล้านั้นส่วนใหญ่ก็จะมีดนตรีเล่นเบาๆมีจังหวะนิดหน่อย ความดังก็ไม่ควรเกิน 90dB เพราะหากเบากว่านี้ก็จะไม่รู้สึกสนุกกับเพลงที่มีจังหวะพูดง่ายๆคือฟังเพลงเพราะโยกได้เบาๆ หากเป็น ผับเทคก็ควรจะอยู่ที่ 95-100dB (หรือไม่ควรเกินที่กฎหมายกำหนด)
แต่ในบ้านเรานั้นส่วนใหญ่จะไปแตะที่ระดับ 110dB ซึ่งเป็นความดังที่อันตรายต่อหูเมื่อเราฟังนานๆ การกำหนดความดังที่เหมาะสมจะนำพาซึ่งการเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงให้ครอบคลุมความดังที่ต้องการ
3. การออกแบบ
เรื่องของความดังของเสียงนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบวางตำแหน่งของลำโพง “ ความดังของเสียงนั้นจะลดลง 6dB เมื่อระยะทางเพิ่มขึ้นไปทุกๆ2เท่า เช่นลำโพงมีความดัง 90dBวัดจากระยะ 1เมตรหน้าลำโพง หากเราถอยห่างออกมา 2 เมตรความดังจะลดลงเหลือ 84dB ถอยห่างออกมาอีกเป็น 4 เมตรความดังก็จะลดลงเหลือ 78dB หากห่าง 8 เมตร ก็จะเหลือ 72dB ซึ่งถ้าเราต้องการความดังที่จุดที่เราฟัง 84dB ที่ระยะฟัง 4 เมตรเราก็ควรเลือกลำโพงที่เปล่งความดังได้ 96dB เป็นอย่างน้อย “
มันเป็นเรื่องของการลดทอนของสัญญาณเสียงหรือ Invert Square Law แน่นอนว่าร้านอาหารนั้นต้องการเสียงที่มีความคมชัดฟังสบายๆไม่หนวกหูจนเกินไปและที่สำคัญต้องสวยงามเหมาะกับพื้นที่ ลำโพงที่เลือกใช้ต้องไม่ดูใหญ่ ต้องเป็นใบเล็กๆที่ให้เสียงครบทุกย่านความถี่ที่หูได้ยิน ตำแหน่งการวางก็ไม่ควรให้เห็นลำโพงเกะกะสายตา
เราก็ควรดูแบบตำแหน่งวางลำโพงให้ครอบคลุมจุดนั่งฟังทั้งหมดจะได้ยินเสียงทั่วถึงกันทั้งหมดและลำโพงที่เลือกใช้นั้นควรเป็นรุ่นเดียวกันหรือยี่ห้อเดียวกันทั้งร้านมันจะง่ายในการปรับแต่งเสียง
ในส่วนของร้านเหล้าผับเทคนั้นควรจะเลือกลำโพงให้เหมาะสมกับขนาดของร้าน เช่นร้านมีขนาดเล็กพื้นที่ กว้าง x ยาว แค่ 6 x 10 เมตร แต่เลือกลำโพงที่เป็นลำโพง Line Array มาใช้งานมันก็ดูไม่เหมาะสมเท่าไหร่ เพราะลำโพง “Line Array นั้นมันต้องใช้จำนวนลำโพงที่มากอย่างน้อย 6 ใบต่อข้างจึงจะควบคุมความถี่ต่ำได้ดีไม่มีการฟุ้งกระจายของเสียงและครอบคลุมพื้นที่ในแนวตั้งได้ทั่วถึง”
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะนิยมทำตามกันเรื่องของการแขวนลำโพงเห็นคนอื่นแขวนก็แขวนด้วย หากเป็นพื้นที่ขนาดเล็กก็ควรใช้ลำโพงชนิด Point source น่าจะเหมาะสมกว่าและให้เสียงที่ดีกว่า หากเป็นพื้นที่พวกผับเทคหรือห้องประชุมขนาดใหญ่เพื่อลดเรื่องการลดทอนของความดังของเสียง ลำโพง Line Array ก็เหมาะสมที่จะนำมาใช้งาน
อีกอย่างคือเรื่องความดังที่ต้องออกแบบเผื่อไว้ เพราะส่วนใหญ่ในผับเทคหรือร้านเหล้านั้น มักจะมีวงดนตรีเล่นด้วยแล้วบางครั้งเสียงจากเครื่องดนตรีจริงนั้นจะดังล้นออกมา เราต้องเลือกลำโพงที่ให้เสียงร้องที่คมชัดและมีความดังที่มากกว่าเสียงเครื่องดนตรี ไม่เช่นนั้นแล้วเสียงร้องจะไม่มีความชัดเจนยิ่งเราเพิ่มเกนไมโครโฟนเสียงร้องมากเท่าไหร่จะยิ่งทำให้มีเสียงฟีดแบคมากขึ้นเท่านั้น
4. การเลือกลำโพง
อุปกรณ์ที่สำคัญมากที่สุดคือลำโพงหากเราเลือกลำโพงไม่เหมาะสมก็จะยิ่งทำให้เสียงกระจายไม่ทั่วถึง วิธีการเลือกลำโพงไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านเหล้า ผับเธค หรือห้องประชุมก็แล้วแต่ ความดังไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนวัตต์ของลำโพงที่ใช้แต่มันขึ้นอยู่กับค่า Sensitivity หรือค่าความดังของลำโพง ยิ่งค่านี้มากเท่าไหร่ลำโพงก็จะยิ่งให้ความดังมากขึ้นเท่านั้น
โดยเราดูได้จากสเปคของลำโพงที่บอกว่า 1w/1m (1วัตต์/1เมตร) มีค่าเท่าไหร่ เช่น ลำโพงขนาด 15″ ยี่ห้อ A มีค่า Sensitivity 1w/1m เท่ากับ 100dB โดยลำโพงลำโพงกินวัตต์เริ่มต้น 500วัตต์ กับลำโพงยี่ห้อ B มีค่า Sensitivity 1w/1m เท่ากับ 102dB โดยลำโพงลำโพงกินวัตต์เริ่มต้น 500วัตต์
แน่นอนว่าลำโพงยี่ห้อ B ให้ความดังที่มากกว่าในการกินกำลังวัตต์เท่ากัน โดยสามารถคำนวนทางคณิตศาสตร์ได้ ใช้สูตร dBSPL = dBsen+10logW เท่านี้เราก็สามารถรู้ได้แล้วว่าลำโพงแต่ละใบมีความดังเท่าไหร่ ซึ่งลำโพงทุกใบต้องมีค่านี้มาให้ ยกเว้นลำโพงที่ไม่ได้ผ่านมาตรฐานการวัดที่ถูกต้อง
5. การควบคุมย่านเสียงต่ำ
ปัญหาอีกอย่างของร้านอาหารร้านเหล้า ผับเธค ก็คือ ย่านเสียงต่ำของลำโพงไปรบกวนพื้นที่ด้านข้างหรือรบกวนชุมชนรอบๆ และส่วนนี้มักจะสร้างปัญหาให้เจ้าของกิจการอยู่บ่อยครั้ง การออกแบบจึงต้องมีความเข้าใจเรื่องธรรมชาติและทฤษฎีของเสียงเป็นอย่างมาก การความคุมเสียงต่ำนั้นต้องใช้การคำนวนที่แม่นยำและประสบการณ์ในการทำงานอย่างสูง ซึ่งการออกแบบนี้เราเรียกว่า Beam Steering Array คือการควบคุมย่านเสียงต่ำให้กระจายเสียงได้อย่างเหมาะสม ทำให้ย่านเสียงต่ำไม่ไปรบกวนพื้นที่รอบๆสถานประกอบการที่เราดำเนินธุรกิจอยู่
6. อุปกรณ์ที่ใช้งาน
หลายครั้งที่ได้อุปกรณ์ที่ไม่มีความจำเป็นมาใช้งานหรือได้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่น ห้องประชุมนำอุปกรณ์จำพวก EFX มาใช้ ซึ่งมันไม่มีความจำเป็นในการใช้งานเพราะห้องประชุมเน้นงานพูดเป็นหลัก
ส่วนผับเทคหรือร้านเหล้ารานอาหารนั้นเน้นดนตรีและความบันเทิงนั้นจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีความทนทานพอสมควรเพราะเปิดใช้งานทุกวัน บางครั้งอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มียี่ห้อนั้นอาจจะดูว่ามีราคาสูง แต่หากลองคำนวนเรื่องอายุการใช้งานและความน่าเชื่อถือในเรื่องของความทนทานนั้น ของที่มียี่ห้อดังๆนั้นมักจะใช้งานได้ทนทานไม่ต้องซ่อมบ่อยๆ
ลองคิดดูว่าถ้าหากอุปกรณ์เครื่องเสียงเราเสียระหว่างใช้งานอยู่จะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ที่พังบ่อยสุดก็คือลำโพง พวกมียี่ห้อนั้นมักจะทนทานกว่าของจีนของก๊อปปี้อยู่แล้ว คงไม่สนุกแน่ๆหากต้องจ่ายค่าซ่อมเครื่องเสียงเกือนละเป็นแสน
7. การปรับแต่งระบบเสียง
เราจำเป็นต้องหาผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการปรับแต่งระบบเสียงจริงๆมาช่วยในการปรับแต่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้มีโปรแกรมที่ช่วยวิเคราะห์เสียงทำให้การปรับแต่งนั้นแม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาเรื่องของเสียงฟีดแบคจากไมโครโฟน (สาเหตุและวิธีแก้ไมค์หอน)
แล้วก็ปรับอีคิวกันจนความดังลดหายกันไปอย่างน่าตกใจ เหมือนกับว่าซื้อของมา 100 บาทแต่ใช้แค่ 10 บาท อย่าลืมว่าความดังกว่าจะได้มา 3dB นั้นต้องแลกมาด้วยเงินที่มากมายหากเราไปปรับแต่งระบบแล้วความดังลดหายไปเท่ากับว่าเงินของเราหายไปอย่างไร้ประโยชน์ เราจึงต้องหาผู้ที่มีความเข้าใจจริงๆมาปรับแต่งระบบให้สมบูรณ์เหมาะสมกับเงินที่ลงทุนไป
8. ผู้ควบคุมระบบเสียง
หลายๆที่ไม่ยอมลงทุนจ้างบุคคลที่มีความรู้เฉพาะมาความคุมระบบเสียง คิดว่าปรับแต่งไว้แล้วคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อย่าลืมว่านักดนตรีที่เล่นทุกวันนั้นน้ำหนักของการเล่นหรือการร้องนั้นไม่เท่ากันในแต่ละวัน
เราจึงจำเป็นต้องมีคนมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะไม่ใช่นำเด็กเสริฟหรือบาร์เทนเดอร์มาปรับแต่ง ระบบพังเพราะความไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการนั้นมาให้เห็นอยู่หลายๆที่ เจียดเงินค่าซ้อมของมาจ้างคนทำงาน จะได้จ่ายค่าซ่อมน้อยลงนะครับ
“ท้ายสุดการออกแบบยังมีรายละเอียดที่ลงลึกลงไปอีก บทความนี้ให้แนวคิดในการลงทุนและการตัดสินใจ หากอยากทราบรายละเอียดที่ลงลึกยิ่งขึ้นมากกว่านี้ติดต่อมาที่เราได้ ยินดีให้คำปรึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนครับ”
หากมีข้อมูลหรือข้อผิดพลาดประการใดสำหรับบทความนี้ต้องขออภัยมาณ.ที่นี้ด้วยครับ
บทความโดย : อาจารย์ น้อย ทรงพล Sound engineer ประจำ Musicspace
สนใจบทความสาระน่ารู้เกี่ยวกับระบบเสียงดีดีได้ที่ www.liveforsound.com
ตัวอย่างผลงานออกแบบและติดตั้งระบบเครื่องเสียง ระบบแสง ระบบภาพ ร้านอาหาร สถานบันเทิง (ผับ เทค บาร์) ห้องประชุม บางส่วน
สนใจสั่งซื้อ ออกแบบระบบเครื่องเสียงสำหรับสถานบันเทิง, ห้องอาหาร, ห้องประชุม, อาคารสำนักงาน
หรือปรับปรุงแก้ไขระบบเสียงเดิม
ติดต่อ บริษัทมิวสิคสเปซ จำกัด – www.soundspacethai.com
0 Comment